จะจองซื้อบ้านทั้งทีควรทำอย่างไร
พวกเราคนทำงานทุกคน หรือหลายๆคนก็คงมีความฝันที่อยากจะมีบ้านเป็นของตัวเองกันใช่มั้ยครับ บ้างก็เป็นบ้านหลังแรกในชีวิต บ้างก็จะได้เป็นบ้านที่จะเริ่มต้นชีวิตครอบครัวใหม่ ต่างคนก็มีเหตุผลต่างกันออกไป แต่ก็มีวัตถุประสงค์เดียวกันคือ อยากได้บ้านนั่นเอง
ปัญหาที่เกิดขึ้นกับหลายๆคนที่ผ่านมาในอดีตก็คือ วางเงินจองบ้านไว้แล้ว แต่ไม่ได้บ้านตามที่จองไว้ เพราะผู้ขายไม่สามารถขายบ้านให้ได้ หรือไม่สามารถมาทำสัญญาจะซื้อจะขายกันได้ ซึ่งโดยหลักการแล้ว เงินที่วางจองไว้ก็คือ เงินมัดจำ นั่นเอง หากผู้รับจองไม่สามารถขายบ้านให้ได้ก็จะต้องคืนเงินมัดจำดังกล่าวให้ผู้จอง แต่หากผู้จองไม่เข้าทำสัญญาภายในเวลาที่กำหนด ก็จะสูญเสียเงินจอง(เงินมัดจำ)ไป ถ้าเป็นแบบนี้ก็ตรงไปตรงมาดีใช่มั้ยครับ ใครผิดสัญญาคนนั้นก็ควรต้องรับผิด
แต่มีสัญญาจองบางอย่างที่มักจะมีข้อความ เอาเปรียบผู้จองอย่างมาก เช่น ถ้าไม่ได้บ้านไม่ว่าเหตุใดๆก็จะไม่ได้เงินมัดจำคืน โอ้โห เอาเปรียบกันมากจริงๆ แต่ตอนนั้นใครจะไปสนใจเล่าครับ ก็คนมันอยากได้บ้าน อารมณ์นั้นยังไงก็จะเซ็นชื่อจองอย่างเดียว เอาล่ะครับ เรามาดูกันว่า การจองซื้อแต่ละที ไม่เฉพาะบ้านเท่านั้นนะครับ แต่ในที่นี้จะยกตัวอย่างว่าจองซื้อบ้าน เราควรตรวจสอบสาระสำคัญอะไรบ้างในสัญญาจอง
1. วันที่และสถานที่ทำสัญญาจอง - อย่าตกม้าตายเพราะลืมดูวันที่นะครับ
2. ชื่อผู้จองและผู้รับจอง - ชื่อ นามสกุล ที่อยู่ ต้องถูกต้องนะครับ ไม่ให้มีปัญหามาแก้ทีหลัง
3. รายการทรัพย์สินที่จะจอง - เช่น จองบ้านและที่ดิน ก็ดูว่ามีครบถ้วนหรือไม่ ที่ดินโฉนดเลขที่เท่าไหร่ ควรจะมีบอกไว้ด้วย
4. ราคาทรัพย์สิน จำนวนเลินที่ต้องชำระ และวิธีการชำระเงิน - อันนี้ต้องดูว่าตรงตามที่ประกาศขาย ตามที่คุยหรือต่อรองกันไว้หรือเปล่า จะชำระเงินกันอย่างไร
5. กำหนดวันทำสัญญาจะซื้อจะขาย และข้อความว่าผู้จองได้อ่านสัญญาจะซื้อจะขายแล้วหรือยัง หากมีข้อความเช่นว่านั้นคุณก็ควรที่จะได้อ่านสัญญาจะซื้อจะขายนั้นแล้วจริงๆ หากยังไม่ได้อ่านก็ให้ขอมาอ่านก่อน ไม่เช่นนั้นจะเป็นการวางเงินมัดจำเพื่อเข้าทำสัญญาที่เราไม่รู้จัก ซึ่งเค้าจะเขียนอะไรมาเราก้ต้องเซ็น แบบนี้ไม่ดีแน่ แต่ถ้าหากว่าเค้าไม่มีสัญญาจะซื้อจะขายให้คุณอ่าน ก็อย่าเพิ่งจองครับ บอกเค้าว่าเราจะจองก็ต่อเมื่อมีสัญญาดังกล่าวมาให้อ่านก่อนเท่านั้น แล้วเค้าจะรีบหามาให้คุณอ่านเองแหละครับ
6. เงื่อนไขแปลกประหลาดอื่นๆที่ผู้รับจองกำหนดขึ้นมา - เช่น ไม่คืนเงินมัดจำไม่ว่ากรณีใดๆ อะไรทำนองนี้ หากอ่านแล้วมันทะแม่งๆก็ให้สอบถาม และขอให้แก้ไขเป็นข้อความที่คุณรับได้ดีกว่าครับ
ลองทำตามนี้ดูนะครับ หากว่าจะต้องจองบ้านหรือจองทรัพย์สินอะไรก็ตาม จะได้เกิดความสบายใจในการเข้าทำสัญญาต่างๆ สัญญาอะไรก็ตามมันเป็นความตกลงของสองฝ่ายที่คิดเห็นตรงกัน
หากว่าคุณรับไม่ได้กับเงื่อนไขก็ไม่ต้องไปเซ็นครับ เพราะเซ็นแล้วเราก็ต้องรับผิดชอบหน้าที่ของเรา หวังว่าท่านทั้งหลายคงจะได้รับความสบายใจในการทำสัญญาต่างๆมากขึ้นนะครับ
ท้ายที่สุดจริงๆ หากว่าคุณได้ทำสัญญาที่สุดแสนจะเอาเปรียบนี้ไปแล้วล่ะก็ มีหน่วยงานของรัฐที่ดูแลเรื่องนี้อยู่คือ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) โดยติดต่อได้ที่หมายเลข 1166 (Hot Line) หรือไปที่เวบไซต์ http://www.ocpb.go.th/ ได้ครับ
ขอบคุณที่มาจาก : lawyerthai.com