โครงสร้างและองค์ประกอบของบ้าน

โครงสร้างและองค์ประกอบของบ้าน

สถาปัตยกรรมทุกชนิดทุกประเภทไม่ว่าจะก่อสร้างด้วยอะไร สมัยไหน ใหญ่หรือเล็กเท่าใดต้องมีโครงสร้างเป็นส่วนประกอบ หรือเป็นหลักสำคัญนับตั้งแต่เพิงเล็ก ๆ ที่เรียกกันว่าเพิงหมาแหงน กระท่อมน้อย บ้านที่อยู่อาศัยหลังเล็กและหลังใหญ่ อาคารร้านค้า ตลอดจนรวมไปถึงคอนโดมิเนียม หรืออาคารสูงเสียดฟ้า ก็จะต้องมีโครงสร้างด้วยกันทั้งนั้น

ทั้งนี้เพราะโครงสร้างของอาคารสิ่งปลูกสร้างเป็นส่วนสำคัญที่จะยึดเกาะให้อาคารนั้น ๆ ยืนหยัดอยู่ได้เพื่อที่จะทนแรงกด แรงรับน้ำหนัก แรงลม แรงดึงดูดต่าง ๆ ได้อย่างมั่นคงปลอดภัย วัสดุที่นำมาใช้เป็นโครงสร้างมีมากมายหลายชนิดแล้วแต่จะนำไปสร้างสิ่งใด เลือกใช้ได้ตามความเหมาะสม และถูกต้อง

ไม้ -  เป็นวัสดุประเภทหนึ่งที่นิยมนำมาใช้เป็นโครงสร้างเพราะน้ำหนักไม่มาก ยืดหยุ่นได้ ทนแดดทนฝน ส่วนความแข็งแรงทนทานนั้นก็ขึ้นอยู่กับประเภทที่นำไปใช้ สถานที่ และการเข้าไม้ ยังมีราคาไม่ค่อยแพงนัก แต่ปัจจุบันไม้บางประเภทราคาสูงมากขึ้น เนื่องจากขาดแคลน และทางรัฐบาลกวดขันการทำไม้มากขึ้น อย่างไรก็ตามไม้ที่นำมาใช้นั้น ถ้าต้องการความแข็งแรงทนทานก็มักจะเป็นไม้เนื้อแข็ง เช่น มะค่า เต็ง รัง ไม้แดง ไม้ประดู่ เป็นต้น ส่วนไม้เนื้ออ่อน มักนำไปใช้เป็นโครงสร้างส่วนที่ไม่ต้องรับน้ำหนักมากนัก หรือบริเวณที่ไม่ต้องตากแดดตากฝนก็จะมีอายุการใช้งานได้นาน

เหล็ก – มีความแข็งแรงทนทานสูง แต่น้ำหนักมาก ราคาแพง แต่มีความหยุ่นตัว ทนแรงดึงได้สูงเมื่อมีการเชื่อมอย่างถูกต้องแล้วจะทนทานมาก

คอนกรีตเสริมเหล็ก – หรือที่เรียกกันว่า ค.ส.ล. รับน้ำหนักได้มาก ทนแรงกดได้ดี ทนน้ำทนไฟ สามารถปรับปรุงแต่งตามต้องการ หรือขึ้นรูปต่าง ๆ ได้ แต่มีปัญหาในเรื่องการหล่อ และการแตกร้าว

ปัจจุบันการก่อสร้าง หรือโครงสร้างต่าง ๆ มักจะนำวัสดุหลายประเภทมาใช้ร่วมกัน ตามความเหมาะสม เช่นอาจจะใช้ทั้งไม้ทั้งเหล็ก คอนกรีต อะลูมิเนียม หรือสารสังเคราะห์อื่น ๆ ด้วย หน้าที่ของโครงสร้างนั้นเป็นส่วนรับและถ่ายเทน้ำหนัก เพื่อให้อาคารสิ่งปลูกสร้างมีความมั่นคง ซึ่งการรับและถ่ายเทน้ำหนักนี้ หมายถึงการถ่ายเทน้ำหนักจากตัวอาคารลงสู่พื้นดิน ซึ่งมีเสาหรือคานเป็นตัวรับและถ่ายเทน้ำหนักนั่นเอง
โครงสร้างโดยทั่ว ๆ ไปประกอบด้วย โครงสร้างในส่วนใต้ดินและโครงสร้างบนดิน โครงสร้างใต้ดิน หมายถึงส่วนที่ทำหน้าที่ยึดเกาะอาคารและรับน้ำหนักตัวอาคารถ่ายลงสู่ดิน โครงสร้างใต้ดินเมื่อสร้างแล้วจะใช้การได้ผลหรือไม่นั้นอยู่กับน้ำหนักอาคาร และลักษณะของพื้นดินที่รองรับฐานราก ดังนั้นถ้าไม่แน่ใจถึงการรองรับน้ำหนักของพื้นดินแล้ว จะต้องตอกเสาเข็มเพื่อช่วยการรับน้ำหนักให้ดียิ่งขึ้น  ส่วนต่าง ๆ ของโครงสร้างใต้ดินได้แก่ ตอม่อ ก็คือเสาที่ต่อจากพื้นชั้นล่างลงไปในดินสู่ฐานราก และทำหน้าที่รับน้ำหนักจากเสาบ้านถ่ายลงสู่ฐานราก

ฐานราก  คือส่วนที่รับน้ำหนักจากตอม่อ ถ่ายสู่ดิน หรือเสาเข็มขนาดของฐานรากขึ้นอยู่กับน้ำหนักตัวบ้านและความสามารถรับน้ำหนักของดิน ข้อสังเกตคือ ในกรณีตัวอาคารมีการยุบตัว จะต้องยุบพร้อมกันทุกด้าน ถ้ายุบตัวด้านใดด้านเดียว ก็จะมีผลกระทบกับตัวอาคารให้เสียหายได้ ส่วนสาเหตุการยุบตัวของอาคารเนื่องจากอาคารรับน้ำหนักมากเกินไปการเลื่อนตัวของชั้นดินบริเวณใกล้เคียง

ในส่วนของฐานรากประกอบด้วย

ฐานรากแผ่ เป็นฐานรากแบบตื้น ๆ รับน้ำหนักไม่มากนัก หรือพื้นดินมีคุณสมบัติรับน้ำหนักได้สูง
ฐานรากเข็ม ในกรณีอาคารมีน้ำหนักมาก ถ้าใช้ฐานรากแบบแผ่จะต้องใช้วัสดุมาก ก็หันมาใช้ฐานรากแบบมีเสาเข็มจะเป็นทั้งเสาเข็ม สั้น-ยาว และเสาเข็มแบบไม้ หรือคอนกรีต ซึ่งมีอยู่หลายแบบแล้วแต่จะน้ำไปใช้ตามแบบของอาคารที่มีขนาดแตกต่างกัน

แต่ในปัจจุบันนิยมเสาเข็มแบบคอนกรีตกันมากกว่าไม้ เพราะใช้สะดวกกว่า แต่ถ้าเป็นเสาเข็มขนาดยาวก็มีปัญหาด้านการตอกเสาเข็มบ้าง ส่วนเสาเข็มไม้นั้นปัจจุบันใช้กันไม่มากแล้ว เพราะไม้หายากราคาแพงหรือถ้าใช้ก็เป็นบ้านเรือนขนาดเล็ก ๆ รวมทั้งเสาเข็มยังมีปัญหาเรื่องการผุกร่อนอยู่ ส่วนเสาเข็มคอนกรีตไม่มีปัญหาเหล่านี้ อย่างไรก็ดี ปัจจุบันได้ใช้เสาเข็มที่เป็นคอนกรีตกันส่วนใหญ่แล้วส่วนที่จะใช้เสาเข็ม ขนาดสั้นยาวเท่าใดนั้น ก็ขึ้นอยู่กับขนาดและน้ำหนักของโครงสร้างหรืออาคารว่าเป็นขนาดใดมีน้ำหนักเท่าใด


Ebook สอนขายสมุดโน๊ต Amazon KDP

Ebook สอนขายสมุดโน๊ต Amazon KDP
Ebook สอนขายสมุดโน๊ตที่เว็ป Amazon ลงทุน 0 บาท

บทความเทคนิคการซ่อมแซมบ้านที่เกี่ยวข้อง

เกร็ดความรู้และเทคนิคในการซ่อมแซมบ้าน ต่อเติมตกแต่งทั้งภายใน-ภายนอก การดูแลรักษาแอร์ สุขภัณฑ์ห้องน้ำ ไฟฟ้า-ประปา และสาระน่ารู้ต่าง ๆ เกี่ยวกับงานช่างทุกชนิด หากท่านมีปัญหาหรือต้องการติดต่อลงโฆษณาสามารถสอบถามได้ที่: โทร.084-8105547 อีเมล์: rutsha001@gmail.com