ระบบการเสริมเหล็ก
ระบบการเสริมเหล็ก
โครงสร้างของพื้นคอนกรีตเสริมเหล็ก การถ่ายน้ำหนักจากพื้นสู่เสาขึ้นอยู่กับการเสริมเหล็กในคาน น้ำหนักที่เกิดในพื้นจะถ่ายไปยังคานสู่เสาและพื้นดินตามลำดับการเสริมเหล็กดังกล่าวนี้ทำให้สามารถออกแบบพื้นคอนกรีตที่อยู่ระดับคาน กลางคาน หรือใต้ท้องคานได้ ซึ่งแยกได้ดังนี้
ระบบการเสริมเหล็กรับแรงทางเดียว
เป็นการออกแบบพื้นให้ถ่ายน้ำหนักจากพื้นไปทางใดทางหนึ่งหรือสู่คานใหญ่ที่รองรับเหล็กเสริมของพื้นด้านที่ถ่ายน้ำหนักจะต้องผูกต่อเชื่อม มาจากเหล็กเสริมของคานใหญ่ ตำแหน่งของเสาที่รับคานในระบบนี้จะเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้า คานใหญ่จะอยู่ในแนวช่วงแคบ ส่วนช่วงยาวของเสาใช้คานย่อยที่ขนาดเล็กลงมา
ระบบเสริมเหล็กรับแรงสองทาง
เป็นการออกแบบพื้นให้ถ่ายน้ำหนักออกเป็น 2 ทาง โดยเหล็กเสริมหรือเหล็กตะแคงของพื้นจะมีขนาดเท่ากัน นำไปผูกกับเหล็กเสริมในคานที่รองรับทั้ง 4 ด้าน
ความหนาของพื้นคาน หรือเหล็กเสริมจะต้องคำนวณหาโดยคิดจากน้ำหนักและแรงทั้งหมดที่กระทำต่ออาคาร จึงจะได้ขนาดหน้าตัดของ เสา คาน และพื้น รวมทั้งการกำหนดขนาดเผื่อไว้เพื่อความปลอดภัยด้วย โดยประมาณความลึกของคาน จากความลึกของช่วงเสา คือความลึกของคานจะเป็น 1/10 เท่าของช่วงเสา เช่น ช่วงเสา 4 เมตร ความลึกของคานจะเป็น 40 ซม. แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับขนาดของการเสริมเหล็กจะใหญ่เล็กเท่าใดด้วย
พื้นสำเร็จรูป
ปัจจุบันการใช้พื้นสำเร็จรูปนิยมมากขึ้น เพราะสะดวกรวดเร็ว ประหยัดได้หลายประการ ส่วนใหญ่จะนำไปใช้ในคานที่ไม่มีการรับน้ำหนัก เช่นหอพัก แฟล หรือที่พักอาศัย เป็นต้น
การทำพื้นคอนกรีตบนพื้นไม้
กรณีการทำห้องน้ำซึ่งต้องเป็นพื้นคอนกรีตในบ้านไม้นั้น สามารถทำได้เช่นกัน โดยประการแรกจะต้องตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงในส่วนนั้นเสียก่อน เพราะการทำห้องน้ำด้วยพื้นคอนกรีตมีความหนักมาก อาจจะต้องเสริมตงเพื่อความแข็งแรง ต่อจากนั้นตรวจดูพื้นไม้ให้มีความหนาและแข็งแรง ปูแผ่นกันความชื้น หรือสังกะสีแผ่นเรียบทับลงไป ปูเหล็กผูกเป็นตะแกรงหนุนให้สูงประมาณ 1 นิ้ว เพื่อเวลาเทคอนกรีต จะได้ให้คอนกรีตรัดเหล็กได้อย่างแน่นหนา ส่วนผนังด้านข้างก็ควรปูแผ่นกันความชื้น ปูแผ่นเซลโลกรีต หรืออาจจะปูกระเบื้องเคลือบก็ได้