การซ่อมบ้านหลังน้ำลด : การตรวจเช็กระบบไฟฟ้าภายในบ้าน
การซ่อมบ้านหลังน้ำลด : การตรวจเช็กระบบไฟฟ้าภายในบ้าน
เมื่อน้ำลด น้ำในบ้านแห้งแล้ว อุปกรณ์ที่ต้องเตรียมเพื่อฟื้นฟูคือ ระบบไฟฟ้า เพื่อความปลอดภัย แนะนำให้เตรียมไฟฉาย สวมถุงมือยางอย่างหนาและรองเท้าบูตยางที่ไม่มีรูรั่ว เพื่อป้องกันไฟฟ้าดูด และอีกอย่างที่ลืมไม่ได้คือ ไขควงเช็กไฟฟ้า ให้ซื้อของใหม่ อย่าเขาของเก่ามาใช้ เพราะเป็นเครื่องมือที่เสื่อมง่าย เก็บไว้นานมักจะเจ๊ง ซื้อใหม่ไม่ต้องแพงมาก อันละไม่กี่สิบก็พอ ซื้อปุ๊ปเช็กทดสอบที่ร้านเลยว่าให้งานได้ดีหรือเปล่าเท่านั้นเอง
ก่อนเข้าบ้าน อะไรที่เป็นเหล็ก เป็นวัสดุนำไฟฟ้า ให้เอาไขควงจิ้มเช็กไปเลย ตั้งแต่ประตูรั้วเข้าไป อย่าผลีผลามมั่นใจว่าบ้านเราสับเมนสวิตช์ลงแล้ว ไฟคงไม่รั่ว ไม่ดูด เพราะเราไม่รู้ว่าบ้านติดกันจะมีปัญหาไฟฟ้ารั่วมาถึงประตูรั้วบ้านเราหรือเปล่า เข้าไปในตัวบ้านให้ตรวจสอบก่อนว่าน้ำท่วมถึงแผงเมนสวิตช์หรือเปล่า ถ้าท่วมให้ถอยออกมา ปล่อยให้ช่างไฟฟ้าจัดการดีกว่า
ถ้าน้ำท่วมไม่ถึง ก็ต้องตรวจเช็กให้แน่ใจว่าเราได้ปลดเมนสวิตช์ตัดไฟฟ้าแล้ว จากนั้นตรวจเช็กปลั๊ก สวิตช์ตัวไหนบ้างที่จมน้ำ ถ้าจมน้ำควรที่จะเปลี่ยนใหม่ แต่ต้องการประหยัดเงินเพื่อไว้ทำอย่างอื่น ที่ต้องจ่ายอีกบาน ให้ถอดแงะออกมาดูว่าขั้วทองเหลืองภายในปลั๊ก สวิตช์เป็นยังไงถ้าสนิมขึ้นเขรอะให้ถอดทิ้งเปลี่ยนใหม่เป็นดีที่สุด อย่างกประหยัดแค่ขัดฉีดล้าง เช็ดถู เป่าให้แห้งแล้วเอามาใช้ เพราะขั้วองเหลืองเน่า ๆ อย่างนี้ เอากลับมาใช้ใหม่ไฟฟ้าเดินไม่สะดวก ปัญหาที่ตามคือ สายไฟฟ้าจะร้อนและลุกกลายเป็นไฟไหม้บ้านได้ในภายหลัง
แต่ถ้าขั้วทองเหลืองมีแค่คราบสกปรกดำบาง ๆ ก็ให้ถอดออกมาทำความสะอาด เอามีด กระดาษทรายมาขัดเอาคราบสกปรกออกไป แล้วเอาเครื่องเป่าผมมาเป่าให้แห้ง สายไฟฟ้าก็เช่นกัน ถ้าเสียหายไม่มาก ไม่บวมพอง ก็ไม่ต้องเปลี่ยนใหม่ ลวดทองแดงสายไฟที่แช่น้ำจะมีคราบสีดำจับเกาะก็ให้เอามีด หรือกระดาษทรายมาขัดถู ประกอบติดเข้าไปใหม่ก็ใช้ได้ ส่วนเครื่องใช้ไฟฟ้าอย่างอื่นที่จมน้ำ ไม่ว่าจะเป็นแอร์ ตู้เย็น เครื่องซักผ้า ปั๊มน้ำ ฯลฯ ไม่มีความรู้เรื่องไฟฟ้าเอาซะเลย ก็ให้เรียกใช้บริการของช่างไฟฟ้าเป็นดีที่สุด แต่ถ้าพอมีความรู้บ้าง ให้ทยอยตรวจเช็กเครื่องไฟฟ้าทีละตัวว่าเป็นยังไง แต่ที่สำคัญต้องแน่ใจว่าระบบไฟฟ้าในบ้านของคุณมีเบรกเกอร์แบบ ELCB ที่ใช้ป้องกันไฟดูดได้ผลด้วย